วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

คำนมัสการคุณานุคุณ

ประวัติผู้แต่ง
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
วันเกิด           5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365
บ้านเกิด         บ้านริมคลองโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
ถึงแก่กรรม      16 ตุลาคม พ.ศ. 2434
สัญชาติ          ไทย
ชาติพันธุ์         ไทย
อาชีพ            นักเขียน
ผลงานเด่น      แบบเรียนหลวง, บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ฯลฯ
ศาสนา           พุทธ
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365-16 ตุลาคม พ.ศ. 2434) เป็นชาวฉะเชิงเทรา ท่านได้รับสมญาว่าเป็นศาลฎีกาภาษาไทย เป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย เรียกว่า "แบบเรียนหลวง" ใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าอีกหลายเรื่อง งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง "รามเกียรติ์" รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง


ความเป็นมา
คำนมัสการคุณานุคุณที่คัดมาให้ศึกษามีเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๕ ตอน แต่ละตอนมีที่มาจากคาถาภาษาบาลี ดังนี้
คำนมัสการพระพุทธคุณ : อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวาพุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ                              (พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง 

ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)                                                                                                                                   

คำนมัสการพระธรรมคุณ :สวาก ขาโต ภะคะวะตา ธัมโมธัมมังนะมัสสามิ                                             (พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม)   
                                              

คำนมัสการพระสังฆคุณ : สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆสังฆัง นะมามิ                                     (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว  ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์)    

คำนมัสการมาตาปิตุคุณ : มาตาปิตุคุณ อะนันตะคุณะ สัมปันนา ชะเนติชะนากา อุโภ มัยหัง มาตา 

ปิตูนังวะปาทา วันทามิ สาทะรัง                                                                                                   (มารดาทั้งสองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอันหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าขอไหว้เท้าทั้งสองของมารดาบิดาของข้าพเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูง)       
                                                                                                                                   

 คำนมัสการพระอาจริยคุณ : ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา ปัญญาวุฒิกเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหัง            (ครูอาจารย์ผู้ใหญ่และผู้น้อยทั้งหลายล้วนเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ได้อบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีวิชาความรู้ได้ให้โอวาทตักเตือนด้วยเมตตาธรรมข้าพเจ้าขอกราบไว้คุณครูอาจารย์เหล่านั้นด้วยความเคารพ)   

   พระยาศรีสุนทรโวหารได้นำคาถาภาษาบาลีมาแปลและเรียบเรียงแต่งเป็นร้อยกรองมีสัมผัสคล้องจอง  ท่องจำง่าย  สามารถพรรณนาความไพเราะจับใจ  หากเทียบกับการแปลเป็นความเรียงร้อยแก้วทั่วไป  หากได้อ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะหรือสวดด้วยทำนอง สรภัญญะ จะยิ่งเพิ่มความไพเราะของถ้อยคำและความหมายที่จรรโลงจิตใจให้ข้อคิดคติธรรมเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำนมัสการมาตาปิติคุณและอาจาริยคุณ  ซึ่งเป็นบทสวดเคารพบิดามารดาและครูอาจารย์  เป็นภาษาบาลที่นิยมใช้กันมาแต่เดิม   ปัจจุบันมีการเรียบเรียงขึ้นเป็นบทฉันท์ในภาษาไทยใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ  เช่น วันไหว้ครู เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงบุญคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์เป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา ผู้ที่เคารพบูชาบิดามารดาและครูอาจารย์จะถือว่ามีมงคลอย่างสูงสุด

ลักษณะคำประพันธ์
คำนมัสการคุณานุคุณแต่ละตอนแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆ  ดังนี้
อินทรวิเชียรฉันท์๑๑
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เป็นฉันท์ที่นำมาแต่งคำนมัสการคุณานุคุณ มาตาปิตุคุณ และอาจริยคุณ มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้









คำประพันธ์อินทรวิเชียรฉันท์นี้ นับว่าง่ายกว่าฉันท์อื่น ๆ  ด้วยเหมือนกับว่า นำเอากาพย์ยานี ๑๑                       มาเพิ่ม ครุ ลหุ เท่านั้น
             บาทที่ ๑   ครุ  ครุ ลหุ  ครุ  ครุ     ลหุ  ลหุ  ครุ  ลหุ  ครุ  ครุ
             บาทที่ ๒  เหมือนกัน กับบาทที่ ๑ 

             ส่ง-รับสัมผัสเช่นเดียวกับกาพย์ยานี ๑๑ ทุกประการ
 กาพย์ฉบัง ๑๖

กาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นกาพย์ที่นำมาแต่งคำนมัสการพระธรรมคุณและพระสังฆคุณมีลักษณะบังคับ
ดังแผนผังต่อไปนี้
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง


ข้อสังเกต
กาพย์ฉบังไม่เคร่งสัมผัสใน จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขอเพียงใช้คำที่อ่านแล้วราบรื่น ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้น ๆ เท่านั้น   ส่วนสัมผัสนอก ระหว่างวรรคที่สอง (วรรครับ) กับวรรคที่สาม (วรรคส่ง) นั้น จะมีหรือไม่มี ก็ได้ไม่บังคับเช่นกัน

วัตถุประสงค์
เพื่อปลูกผังคุณธรรมและตระหนักถึงความกตัญญูกตเวที





คำนมัสการพระพุทธคุณ
   อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
องค์ใดพระสัมพุทธ       สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูลกิเลสมาร                    บ่มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน      ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคีบ่พันพัว                        สุวคนธกำจร
องค์ใดประกอบด้วย     พระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร                 มละโอฆะกันดาร
ชี้ทางบรรเทาทุกข์       และชี้สุขเกษมสานต์
ชี้ทางพระนฤพาน                  อันพ้นโศกวิโยคภัย
พร้อมเบญจพิธจัก-       ษุจรัสวิมลใส
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล                 ก็เจนจบประจักษ์จริง
กำจัดน้ำใจหยาบ         สันดานบาปแห่งชายหญิง
สัตว์โลกได้พึ่งพิง                    มละบาปบำเพ็ญบุญ
ลูกขอประณตน้อม       ศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุญ-                     ญภาพนั้นนิรันดร ฯ


แปลคำนมัสการพระพุทธคุณ
                                                องค์ใดพระสัมพุทธ              สุวิสุทธะสันดาน 
หมายถึง พระพุทธเจ้าสามารถตัดกิเลสต่างๆได้และมีจิตใจทีไม่หม่นหมอง
                                               หนึ่งในพระทัยท่าน              ก็เบิกบานคือดอกบัว
                                           ราคีบ่พันพัว                           สุวคนธะกำจร
หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปราศจากกิเลสและไม่เกี่ยวข้องกับความมัวหมองหรือราศีใดๆ
                                                องค์ใดประกอบด้วย             พระกรุณ​​าดังสาคร
                                           โปรดหมู่ประชากร                    มละโอฆะกันดาร
หมายถึง  ทรงมีพระกรุณาดั่งมหาสมุทร และโปรดประชากรให้ปราศจากกิเลสที่ท่วมทับใจคนดั่งห้วงน้ำ
                                               ชี้ทางบรรเทาทุกข์​​               และชี้สุขเกษมสานต์
                                           ชี้ทางพระนฤพาน                    อันพ้นโศกวิโยคภัย
หมายถึง  ชี้แนะแนวทางอันเป็นประโยชน์ คือ การละเลิกจากกิเลส หรือ พระนิพพาน
                                               พร้อมเบญจพิธจัก                ษุจรัสวิมลใส
                                           เห็นเหตุที่ใกล้ไกล                    ก็เจนจบประจักษ์จริง
หมายถึง  พระพุทธเจ้าทรงมีพระปรีชาญาณอันลึกซึ้ง ทรงคิดค้นและทำความเข้าใจในทุกสิ่ง เนื่องจากทรงมี ดวงตาหรือปัญญาทั้ง ๕
                                              กำจัดน้ำใจหยาบ                 สันดานบาปแห่งชายหญิง
                                           สัตว์โลกได้พึ่งพิง                     มละบาปบำเพ็ญบุญ
หมายถึง  กำจัดน้ำใจหยาบและอุปนิสัยที่ไม่ดีของมนุษย์นอกจากนี้ยังเป็นที่พึ่งพึงของสัตว์โลก และทำให้ผู้ทำชั่วได้กลับตัวกลับใจ
                                              ลูกขอประณตน้อม                 ศิรเกล้าบังคมคุณ
                                           สัมพุทธการุญ                         ญภาพนั้นนิรันดรฯ
หมายถึง  ข้าพเจ้าขอบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้า พระพุทรนิรันดร


คำนมัสการพระธรรมคุณ
กาพย์ฉบัง ๑๖

                             ธรรมะคือคุณากร                  ส่วนชอบสาธร
ดุจดวงประทีปชัชวาล
                             แห่งองค์พระศาสดาจารย์         ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมล
                             ธรรมใดนับโดยมรรคผล           เป็นแปดพึงยล
และเก้านับทั้งนฤพาน
                             สมญาโลกอุดรพิสดาร             อันลึกโอฬาร
พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
                             อีกธรรมต้นทางครรไล            นามขนานขานไข
ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง
                             คือทางดำเนินดุจครอง            ให้ล่วงลุปอง
ยังโลกอุดรโดยตรง
                             ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์             นบธรรมจำนง
ด้วยจิตและกายวาจาฯ

แปลคำนมัสการพระธรรมคุณ
ธรรมะคือคุณากร                  ส่วนชอบสาธร
ดุจดวงประทีปชัชวาล
หมายถึง ธรรมะคือบ่อเกิดแห่งความดี เป็นคำสอนที่ถูกต้อง ควรให้ความสำคัญ เปรียบเหมือนแสงไฟที่สว่างไสว
แห่งองค์พระศาสดาจารย์         ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมล
หมายถึง พระพุทธเจ้าได้ให้พระธรรมช่วยเป็นทางส่งสว่างให้แก่ชีวิตและจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ธรรมใดนับโดยมรรคผล           เป็นแปดพึงยล
และเก้านับทั้งนฤพาน
หมายถึง ธรรมที่นับโดยเหตุผลมีแปดประการ อีกเก้าประการสู่ทางดับทุกข์
สมญาโลกอุดรพิสดาร             อันลึกโอฬาร
พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
หมายถึง กล่าวถึงมรรคว่ามีความลึกซึ้งอย่างยิ่งเหมือนทวีปที่ห่างไกล ที่กว้างใหญ่ยากที่จะคาดเดา
อีกธรรมต้นทางครรไล            นามขนานขานไข
ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง
หมายถึง  ธรรมที่เป็นทางเดินที่จะถึงโลกุตตธรรม9 เริ่มจากการปฏิบัติเเละปริยัติ
คือทางดำเนินดุจครอง            ให้ล่วงลุปอง
ยังโลกอุดรโดยตรง
หมายถึง จากที่กล่าวมาข้างต้นคือหนทางที่จะพาเราให้ไปสู่โลกที่พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์
ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์             นบธรรมจำนง
ด้วยจิตและกายวาจาฯ
หมายถึง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมยอมจำนงต่อธรรม ทั้งจิตใจ กาย และวาจา

นมัสการพระสังฆคุณ
กาพย์ฉบัง 16
สงฆ์ใดสาวกศาสดา                รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์                      
เห็นแจ้งจัตุสัจเสร็จบรร           ลุทางที่อัน
ระงับและดับทุกข์ภัย
โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร           ปัญญาผ่องใส
สะอาดและปราศมัวหมอง
เหินห่างทางข้าศึกปอง            บมิลำพอง
ด้วยกายและวาจาใจ
เป็นเนื้อนาบุญอันไพ-             ศาลแด่โลกัย
และเกิดพิบูลย์พูนผล                        
สมญาเอารสทศพล                มีคุณอนนต์
อเนกจะนับเหลือตรา
ข้าขอนบหมู่พระศรา-             พกทรงคุณา
นุคุณประดุจรำพัน
ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์            พระไตรรัตน์อัน
อุดมดิเรกนิรัติศัย
จงช่วยขจัดโพยภัย                อันตรายใดใด
จงดับและกลับเสื่อมสูญ

แปลคำนมัสการพระสังฆคุณ
สงฆ์ใดสาวกศาสดา                รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์    
หมายถึง  พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ได้รับการปฏิบัติมา
เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร           ทางที่อัน  
ระงับและดับทุกข์ภัย 
หมายถึง  พระสงฆ์สาวกเห็นความจริง บรรลุทางที่สามารถดับทุกได้
โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร           ปัญญาผ่องใส
สะอาดและปราศมัวหมอง     
หมายถึง  พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม เป็นทางออกจากความทุกข์
เหินห่างทางข้าศึกปอง            บ่มิลำพอง
ด้วยกายและวาจาใจ           
หมายถึง  พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหินห่างจากข้าศึกทั้งปวง ปราศจากความคึกคะนอง ทั้งทางกาย วาจา และใจ
เป็นเนื้อนาบุญอันไพ-             ศาลแด่โลกัย
และเกิดพิบูลย์พูนผล    
หมายถึง พระสงฆ์ถือได้เป็นเนื้อนาบุญที่กว้างใหญ่ไพศาล เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในโลกและทำให้เกิดผลบุญมากมาย
สมญาเอารสทศพล                มีคุณอนนต์    
อเนกจะนับเหลือตรา          
หมายถึง  พระสงฆ์มีพระคุณมากมายเกินกว่าที่จะนับได้
ข้าฯ ขอนบหมู่พระศรา           พกทรงคุณา
นุคุณประดุจรำพัน           
หมายถึง  ข้าขอน้อมนบ และสำนึกในพระคุณของพระสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์            พระไตรรัตน์อัน   
อุดมดิเรกนิรัติศัย
หมายถึง  ข้าขอเคารพนอบน้อมต่อพระสงฆ์หนึ่งในพระรัตนไตรผู้ประเสริฐยิ่ง
จงช่วยขจัดโพยภัย                อันตรายใดใด       
จงดับและกลับเสื่อมสูญฯ
หมายถึง  ขอให้ช่วยขจัดภัยอันตรายใดๆให้หายไป

นมัสการมาตาปิตุคุณ
อินทรวิเชียรฉันท์ 11
ข้าขอนบชนกคุณ                  ชนนีเป็นเค้ามูล
ผู้กอบนุกูลพูน                               ผดุงจวบเจริญวัย
ฟูมฟักทะนุถนอม                  บ บำราศนิราไกล
แสนยากเท่าไรไร                            บ คิดยากลำบากกาย
ตรากทนระคนทุกข์                ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
ปกป้องซึ่งอันตราย                         จนได้รอดเป็นกายา
เปรียบหนักชนกคุณ               ชนนีคือภูผา
ใหญ่พื้นพสุนธรา                            ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน
เหลือที่จะแทนทด                 จะสนองคุณานันต์
แท้บูชไนยอัน                                อุดมเลิศประเสริฐคุณ


                     แปลคำนมัสการมาตาปิตุคุณ
ข้าขอนบชนกคุณ                  ชนนีเป็นเค้ามูล
ผู้กอบนุกูลพูน                               ผดุงจวบเจริญวัย
หมายถึง ขอกล่าวนอบน้อมพระคุณของบิดา มารดา ผู้ที่ได้เลี้ยงดูมาจนโต
ฟูมฟักทะนุถนอม                  บ บำราศนิราไกล
แสนยากเท่าไรไร                            บ คิดยากลำบากกาย
หมายถึง ผู้คอยดูแลปกป้องถึงแม้จะยากแค่ไหน ก็ไม่เคยคิดว่าลำบาก
ตรากทนระคนทุกข์                ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
ปกป้องซึ่งอันตราย                          จนได้รอดเป็นกายา
หมายถึง อดทนเลี้ยงดูลูกอย่างทะนุถนอมปกป้องจนรอดพ้นจากอันตราย
เปรียบหนักชนกคุณ               ชนนีคือภูผา
ใหญ่พื้นพสุนธรา                            ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน
หมายถึง เปรียบคุณของบิดามารดานั้นยิ่งใหญ่กว่าภูเขาหรือแผ่นดินทั้งแผ่นก็มาเทียบเทียมไม่ได้
เหลือที่จะแทนทด                 จะสนองคุณานันต์
แท้บูชไนยอัน                                อุดมเลิศประเสริฐคุณ
หมายถึง แม้การที่เราจะทดแทนบุณคุณทั้งหมดคงจะเป็นไปมิได้ แต่เพียงแค่เรากระทำตนเป็นคนดีของสังคม กตัญญูรู้คุณต่อท่านเท่านี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว


                                              นมัสการอาจาริยคุณ
อินทรวิเชียรฉันท์ 11
อนึ่งข้าคำนับน้อม                 ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน                         อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ             ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน                           ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา                 และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์                 ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม-              หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์                            ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ                  ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน                          จิตน้อมนิยมชม


                       แปลคำนมัสการอาจริยคุณ
อนึ่งข้าคำนับน้อม                 ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน                         อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
หมายถึง ข้าขอคำนับ เคารพคุณครูผู้มีความเอื้อเฟื้อเมตตา ผู้สั่งสอนทุกสิ่งแก่ข้าพเจ้า
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ             ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน                           ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน
หมายถึง จากที่ไม่รู้ชั่วหรือดีครูอาจารย์ก็จะชี้แจงขยายความให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา                 และกรุณา บ  เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์                 ให้ฉลาดและแหลมคม
หมายถึง มีจิตเมตตากรุณา คอยขัดเกลา อบรมสั่งสอนให้ฉลาดหลักแหลม
ขจัดเขลาบรรเทาโม-              หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์                             ก็สว่างกระจ่างใจ
หมายถึง กำจัดความโง่เขลาและความโกรธ จะทำให้จิตใจที่หมองมัวกลายเป็นจิตที่กระจ่างใส
คุณส่วนนี้ควรนับ                  ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน                          จิตน้อมนิยมชม
หมายถึง พระคุณที่ได้กล่าวมา ถือว่าเป็นเลิศในทั้งสามโลก  ควรระลึกและน้อมใจชื่นชมยกย่อง


                                                                    ข้อคิดที่ได้รับ
-         -- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบหลักธรรมในการประพฤติปฏิบัติและในการดำเนินชีวิตเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ละเว้นความชั่วและกิเลส และชี้ทางแห่งความสุข คือ นิพพาน
-         -- ธรรมะ คือ ที่เกิดแห่งความดี เปรียบเหมือนแสงสว่างในใจที่ทำให้หลุดพ้นความทุกข์
-         -- นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาชำระจิตใจให้ปราศจากกิเลส
-         -- พระสงฆ์ เป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นผู้ก่อประโยชน์นานับประการ
-         -- นอบน้อมต่อคุณครู ผู้มีความกรุณา ค่อยสั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้ ให้เป็นคนดี
-         -- กระทำตนเป็นคนดีของพ่อแม่ ของสังคม
-         -- กตัญญูรู้คุณต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณครู บิดา มารดา
-         -- กราบไหว้ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

คำศัพท์คำนมัสการคุนานุคุณ
v การุญภาพ                 ความเป็นผู้มีความกรุณา
v เกลศ                         กิเลสเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง  ได้แก่  ความโลภ  ความโกรธ  และความหลวง
v เบญจพิธจักษุ            ดวงตาหรือปัญญาทั้ง อันเป็นคุณสมบัติวิเศษของพระพุทธเจ้า ได้แก่
1.  มังสจักษุ หมายถึง ตาเนื้อ คือ มีพระเนตรอันงาม แจ่มใส ไว และเห็นได้ชัดเจน แม้ในระยะไกล
2.  ทิพยจักษุ หมายถึง ตาทิพย์ คือ มีพระญาณอันเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นไปด้วยอำนาจกรรม
 3.  ปัญญาจักษุ หมายถึง ตาแห่งปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้
4.  พุทธจักษุ หมายถึง ตาแห่งพระพุทธเจ้า คือ ญาณหยั่งรู้อัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ ทำให้พุทธกิจบริบูรณ์
 5.  สมันตจักษุ หมายถึง ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ
v จตุสัจ                         อริยสัจสี่  คือ  ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ
v ภควันต์                      พระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า
v โอฆ                           ห้วงน้ำ
v อุตมงค์                       ศีรษะ
v เอารสทศพล              พระภิกษุ
v พระนฤพาน               ความสงบสูงสุด
v ปริยัติ                         การเล่าเรียนพระไตรปิฎก
v คุณากร                       ที่เกิดแห่งความดี
v ศราพก                        สาวก
v บูชไนย                        ควรบูชา
v โลกัย                           ชาวโลก
v สุวิสุทธสันดาน            พระอัธยาศัยอันประเสริฐขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
v คุณานุคุณ                      คุณน้อยใหญ่ทั้งปวง
v ครรไล                           ไป
v ชัชวาล                            สว่าง รุ่งเรือง    
v โอฬาร                             ใหญ่โต    
v แกล้ง                               ตั้งใจ
v  นิรัติศัย                           ประเสริฐยิ่ง
v โพยภัย                            อันตราย
v วิโยค                               การจากไป การพลัดพราก
v สมญา                              ชื่อ
v ราคี                                  ความหมองมัว มลทิน
v กำจร                                ฟุ้งไป
v สุว                                    ดีงาม
v คนธ                                 กลิ่น 
v กังขา                                ความสงสัย ความเคลือบแคลง
v นิรา                                  ไปจาก ไม่มี
v บำราศ                              จากไป
v พสุนธรา                           แผ่นดิน
v อนุสาสน์                          คำสั่งสอน
v อัตถ์                                  เนื้อความ
v ประทีป                             ไฟที่มีเปลวสว่าง
v มละ                                   ละ,ทิ้ง
v ประจักษ์                            ปรากฏชัด
v ฟูมฟัก                                ทะนุถนอม ประคับประคอง


ความรู้เพิ่มเติม
สรภัญญะ
คือ การสวดและร้องเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่งที่ผสมผสานกันมีการร้องและรำประกอบ บทสวดจะมีลักษณะเป็นฉันท์หรือกาพย์
สรภัญญ์ (สะ-ระ-พัน หรือ สอ-ระ-พัน) หรือ สารภัญญะ (สา-ระ-พัน-ยะ) หรือ สรภัญญะ (สอ-ระ-พัน-ยะ) สามารถออกเสียงได้ทั้งสี่แบบ และถือว่าถูกต้องตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เป็นบทสวดประเภทหนึ่งที่อุบาสกและอุบาสิกาในภาคอีสานนิยมสวดกันในวันอุโบสถศีล (วันพระ) หรือบางครั้งก็นำมาสวดประชันกันว่าคณะสวดหมู่บ้านใดจะสวดได้ไพเราะ และบทสวดใครจะมีคารมคมคายกว่ากัน การสวดสรภัญญ์นี้ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า ฮ้องสรภัญญ์
การสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ป.ธ.8 องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี 5 ตอน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ บทสรรเสริญพระธรรมคุณ บทสรรเสริญพระสังฆคุณ บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และบทสรรเสริญอาจาริยคุณตามลำดับ บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้สวดกันโดยทั่วไป และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียว่า "บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธ"
สรภัญญะ เป็นการสวดในทำนองสังโยค คือ การสวด เป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ บทสวดจะมีลักษณะเป็นฉันท์หรือกาพย์ก็ได้ แต่ทีนิยมกันมากคือ กาพย์ยานี สำหรับเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับศาสนา บาปบุญคุณโทษ นิทานชาดก นอกจากนั้น ก็ยังมีการแต่งกลอนเน้นไปทางศิลปวัฒนธรรม เช่น กลอนถามข่าว โอภาปราศรัย ชักชวนให้ไปเยี่ยม การลา หรือเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของอีสาน เช่น เรืองกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นต้น บทสวดสรภัญญะมักไม่เน้นในเรื่องความรัก เพราะการสวดสรภัญญะเกี่ยวข้องกับศาสนา และผู้ฝึกสอนเป็นพระภิกษุ จึงไม่ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก เพราะไม่เหมาะกับพระสงฆ์
บทร้องสรภัญญะเนื้อหาของเพลงสรภัญญะจะกล่าวถึงเรื่องราวของพุทธศาสนา ยกย่องสรรเสริญบุคคลผู้มีพระคุณ ให้ความรู้เกี่ยวกับนิทาน ตำนานพื้นบ้านและเหตุการณ์ปัจจุบัน มุ่งอบรมสั่งสอนให้คนทำความดีมีจริยธรรม พรรณนาธรรมชาติ นิทานพื้นบ้าน ช่วยให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลาย มีเรื่องราวสนุกสนานก่อให้เกิดความสามัคคี บทเพลงสรภัญญะ จึงเป็นเพลงขับจริยธรรมอย่างแท้จริง
การเลือกใช้คำในเพลงสรภัญญะที่ทำให้เกิดความงามและความไพเราะ จะใช้คำให้สัมผัสทั้งในวรรคและระหว่างวรรค นอกจากนี้ทีโดดเด่นทีสุดก็คือมีการเลือกใช้คำภาษาถิ่นของตนมาประยุกต์กับภาษาไทย
ประเภทของสรภัญญะได้จำแนกไว้ 10 ประเภท คือ บทบูชาพระรัตนตรัย บทนมัสการไหว้ครูและเคารพบิดามารดา บทคำสอนทางพุทธศาสนาสรรเสริญพระศาสนาและวันสำคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา บทที่เป็นคำสอนทางโลก บทสุภาษิตคำพังเพยอุปมาอุปไมย บทที่อยู่ในความสนใจของชาวบ้าน บทที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน บทพรรณนาธรรมชาติ บทวรรณกรรมพื้นบ้าน และบทที่มีเนื้อหาเบ็ดเตล็ด
ในอดีตการขับร้องสรภัญญะมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนชาวอีสานเป็นอย่างมากจึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนการขับร้องและสวดสรภัญญะด้วยการจัดประกวดการขับร้อง เป็นกิจกรรมแทรกในงานต่าง ๆ อันส่งผลให้มีผู้คิดและแต่งบทสรภัญญะกันมากขึ้น ซึ่งผู้ที่แต่งส่วนใหญ่ ได้แก่ พระสงฆ์ หรือฆราวาสที่เคยบวชเรียน หรือมีประสบการณ์ในการขับสรภัญญะและรักในศิลปะการประพันธ์
ปัจจุบันการสวดสรภัญญะของชาวภาคอีสานนั้น นิยมสวดกันในงานศพ งานทอดผ้าป่า งานกฐิน งานทอดเทียน งานกวนข้าวทิพย์ และในกิจกรรมวันธรรมสวนะ (วันพระ) และชาวอีสานได้ร่วมใจกันสืบสานการสวดสรภัญญะให้คงอยู่ ด้วยการสวดสรภัญญะในวันธรรมสวนะและงานบุญต่าง ๆ และจัดให้มีการประกวดสวดสรภัญญะกันอยู่เสมอ โดยมีการแข่งขันตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับภาค นอกจากนั้นยังได้ถ่ายทอดให้กับเยาวชนโดยการบรรจุอยู่ในการเรียนการสอนวิชาวรรณกรรมท้องถิ่นในโรงเรียนต่าง ๆ ของภาคอีสานอีกด้วย จึงเชื่อได้ว่าการสวดสรภัญญะอันเป็นอีกหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมนี้จะยังคงอยู่คู่กับชาวอีสานต่อไป

พิธีไหว้ครู
 เป็นพิธีกรรมที่เป็นประเพณีของไทยที่นิยมปฏิบัติมาแต่สมัยโบราณ แสดงถึงความระลึกถึงบุญคุณของครู การไหว้ครูเป็นการแสดงตนว่าขอเป็นศิษย์ของท่านโดยตรง
การไหว้ครูมีใช้ในหลายกิจกรรมเช่น การไหว้ครูในโรงเรียน พิธีกรรมของโรงเรียนในวันครู การไหว้ครูมวย เป็นการไหว้ครูด้วยลีลาของศิลปะมวยไทย เช่นเดียวกับกระบี่กระบอง การไหว้ครู ก่อนการแสดงศิลปะดนตรี เช่น หนังตะลุง และการไหว้ครูในงานประพันธ์ เรียกว่า บทไหว้ครู หรือ อาเศียรวาท (อาเศียรพาท ก็ว่า) เป็นการกล่าวระลึกถึงบุญคุณครู และขอความเป็นมงคล
ในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้หลัก 3 อย่างในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่
1.      หญ้าแพรก สื่อถึง ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่โตได้เร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
2.      ดอกเข็ม สื่อถึง ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความคิด ให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนฉลาด(หัวแหลม) รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์
3.      ดอกมะเขือ สื่อถึง การเปรียบเทียบว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึง นักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง
4.      ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่างๆได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก

การบูชาพระรัตนตรัย
พระรัตนตรัย เปรียบได้กับแก้ว ๓ ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ จัดเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างสูงสุดของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในการบูชาพระรัตนตรัยนั้น โดยปกติจะมีพระพุทธรูปเป็นประธาน ประดิษฐานไว้ในสถาน ที่สูง จะเป็นแท่นใหญ่หรือบนโต๊ะหมู่ก็ได้                                                          
พระพุทธองค์ทรงมีพระคุณอเนกประการ พอสรุปได้ ๓ อย่าง คือ พระปัญญาคุณ พระ บริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งนายช่างผู้เข้าใจประดิษฐ์ ได้สร้างพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้ แฝงไว้ที่องค์พระปฎิมากรทั้งหลาย เป็นต้นว่า
พระเศียรสูง หรือ ยอดพระเกศแหลม หมายถึงการมีปัญญาสูง หรือฉลาดหลักแหลม พระกรรณยาว แสดงถึงหูหนัก ฟังแล้วต้องไตร่ตรองให้เข้าใจเหตุผลก่อนเชื่อ จัดเป็นพระปัญญาคุณ
พระเนตรสำรวม ไม่มีการเหลียวซ้ายแลขวา หรือจ้องหน้าผู้ใดตรงๆ และพระหัตถ์สำรวม เช่น พระปางสมาธิหรือปางมารวิชัยที่นิยมสร้างกันเป็นส่วนมาก มีลักษณะของการสำรวมอินทรีย์ และ ศีล แสดงถึง  พระบริสุทธิคุณ
พระพักตร์อิ่ม พระโอษฐ์แย้มยิ้ม มีลักษณะของคนใจดี มีเมตตาปรานี แล้วยังทำดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของแท่นที่ประทับอีกด้วย ดอกบัวหมายถึงดวงใจ ที่เทิดทูนพระพุทธองค์ด้วยความ รักเคารพอย่างยิ่ง บ่งบอกพระกรุณาธิคุณ
เครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งท่านโบราณาจารย์ได้จัดทำถวายขึ้นนั้น มี ๓ อย่าง คือ ธูป เทียน และ ดอกไม้ ล้วนมีความหมายที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งเราจุดธูปเพื่อมุ่งบูชาพระพุทธคุณด้วยเหตุผลทีว่า                                                                                                    
ธูป ให้ความหอม ซึ่งปัจจุบันนี้พระพุทธคุณก็ยังคงความหอมหวนอยู่เสมอ แม้พระพุทธ องค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานนานมาแล้วก็ตาม  ธูป นิยมจุด ๓ ดอก บ่งถึงการบูชาพระพุทธคุณโดยย่อ ๓ ประการ ดังกล่าวแล้ว
เทียน จุดให้ความสว่าง มุ่งบูชาพระธรรมคุณ ด้วยเหตุผลที่ว่า ดวงประทีปส่องหน ทางให้คนเดินไปได้โดยสะดวกฉันใด ธรรมะก็เป็นเครื่องช่วยชี้ทางชีวิต ให้ก้าวหน้าไปอย่างสบาย ฉันนั้น  "หนทางสว่างด้วยแสงไฟ จิตใจสว่างด้วยแสงธรรม"  เทียน นิยมจุด ๒ เล่ม เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดามี ๒ ประเภท คือ พระวินัยหรือศีล เป็นประเภทคำสั่ง มีโทษแก่ผู้ละเมิด อีกอย่างคือ พระธรรม เป็นประเภท  คำสอน ผู้ใดศึกษาบำเพ็ญตามได้เท่าใด ก็จักเจริญขึ้นไปตามส่วนของธรรมปฏิบัตินั้นๆ
ดอกไม้ ให้ความงาม มุ่งบูชาพระสังฆคุณ ด้วยเหตุผลที่ว่า ดอกไม้ที่อยู่ในแจกันหรือ บนพานซึ่งจัดประดับดีแล้ว ย่อมงามกว่าส่วนที่อยู่บนต้นไม้ต่างๆ ซึ่งยังเกะกะไม่มีระเบียบฉันใด พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ที่ท่านปฏิบัติดีแล้วในพระธรรมวินัย ก็ย่อมดีงามกว่าปุถุชนคน นอกพระธรรมวินัยฉันนั้น

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
๑.ด้านสังคมและวัฒนธรรม
พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ด้านต่าง ๆ วิถีชีวิตของคนไทยได้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาตั้งเกิดจนตาย เนื่องจากหลักคำสอนทางพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับลักษณะอุปนิสัยคนไทย เช่นชอบความสงบ ความมีเมตตาอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบความอิสระเสรี และพุทธศาสนาก็อยู่คู่กับชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาล จึงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยด้านต่าง ๆ ดังนี้
๑) ด้านภาษา
ภาษาไทยส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลี และฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาสู่ไทย คนไทยก็รับเอาวัฒนธรรมด้านภาษาด้วย ดังที่ภาษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งชื่อคน ชื่อสถานที่ และชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากศัพท์บาลีแทบทั้งสิ้น เช่นคำว่า โทรศัพท์ โทรทัศน์ มหาวิทยาลัย ธนาคาร เกษตรกรรม รัฐบาล อดิศักดิ์ ศุภลักษณ์ วราพรรณ ธารินทร์ ทัศนศึกษา วิถี เป็นต้น
๒) ด้านวรรณกรรม
วรรณคดีทั้งหลายได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา และคัมภีร์พระพุทธศาสนายังเป็นที่มาแหล่งใหญ่ของบทประพันธ์และกวีนิพนธ์ต่าง ๆ ได้รับอิทธพลจากพระพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
๓) ด้านศิลปกรรม
ประเทศไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ ว่าเป็นเมืองที่มีศิลปะงดงามยากที่จะหาชาติใดเหมือน ศิลปะที่ปรากฏล้วนแต่มีความประณีตสวยสดงดงาม ซึ่งศิลปกรรมเหล่านั้นได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เช่นวัดวาอารามต่าง ๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ละเอียดอ่อน เขียนเรื่องราวในพระพุทธศาสนา และชาดกต่าง ๆ นอกจากนั้นศิลปะทางดนตรีก็เนื่องอยู่ด้วยกันกับพระพุทธศาสนา วัดเป็นแหล่งกำเนิดและอนุรักษ์ศิลปะดนตรี ด้วยวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน จึงเป็นแหล่งกำเนิดหรือปรากฎตัวของดนตรีในโอกาสงานต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและอวมงคล
๔ ) ด้านการศึกษา
การศึกษาของไทยในอดีต มีวัดเป็นศูนย์กลางในการให้การศึกษา มีพระภิกษุเป็นครูสอนวิชาการความรู้ต่าง ๆ แก่ประชาชน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงจัดการศึกษาแบบใหม่ขึ้นในหัวเมือง โปรดให้พระสงฆ์เป็นครูสอน และถือว่าคนที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วเป็นผู้ที่มีความรู้ จึงกำหนดให้คนที่จะเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาก่อน จึงเกิดประเพณีบวชเรียนขึ้น
๕) ด้านสังคมสงเคราะห์
วัดเป็นสถานสงเคราะห์ประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นว่า วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ให้การสงเคราะห์แก่ชุมชน เช่น เป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตสำหรับคนมีปัญหาทางด้านจิตใจ มีพระเป็นจิตแพทย์ เป็นสถานพยาบาล แก่ผู้ป่วยไข้ แม้ปัจจุบัน วัดหลายแห่งกลายเป็นที่พึ่งพิงทั้งทางกายและทางใจของคนผู้ติดเชื้อเอดส์ วัดเป็นสถานบันเทิง รื่นเริงต่าง ๆ ของชุมชน เมื่อมีประเพณีต่าง ๆ และที่สำคัญวัดเป็นสถานสงเคราะห์ที่สำคัญทางด้านจิตใจแก่ประชาชน ทุกระดับ เพราะพระพุทธศาสนา เป็นประดุจขุมทรัพย์ที่ทรงคุณค่ามหาศาล เป็นที่พึ่งแก่คนตั้งแต่ระดับที่ต้องการความสุขใจสงบใจจากพิธีกรรม ความเชื่อ จนถึงผู้ที่ต้องการหลักธรรมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
          ๖) เป็นต้นกำเนิดพิธีกรรมและวันสำคัญต่าง ๆ
พิธีกรรมของไทยมาจากความเชื่อและเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เช่นพิธีลอยกระทง พิธีทำบุญวันสารทไทย พิธีสงกรานต์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีวันสำคัญต่าง ๆ เช่นวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น
๗) พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ร้อยละ ๙๕ นับถือพระพุทธศาสนา สามารถบอกกับชาวต่างชาติได้อย่างภาคภูมิใจว่าเมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธ นับว่าพระพุทธศาสนาเป็นมรดกสำคัญของชาวไทย จนเป็นที่รู้จักในสายตาชาวต่างประเทศว่าเมืองไทยเป็นเมืองแห่งผ้ากาสาวพัตร (ผ้าเหลือง) คือพุทธศาสนาอยู่คู่ชาติไทยมานาน ตังใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี ฯ
๒. ด้านการเมืองการปกครอง
พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลต่อการปกครองอย่างมาก โดยเฉพาะในอดีต สมัยที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช อันมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองโดยเด็ดขาด แต่ด้วยทรงมั่นคงต่อหลักธรรมทางพุทธศาสนา ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรม ทรงสนพระทัยในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงเป็นพุทธมามกะทุกพระองค์ จึงสามารถใช้ธรรมะปกครองอย่างสงบร่มเย็น
ปัจจุบัน การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ทรงเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนามาปฏิบัติในพระจริยาวัตรของพระองค์ และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทย
พระสงฆ์เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐ กับประชาชน เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ดังนั้นวัดจึงเป็นศูนย์กลางระหว่างประชาชนกับรัฐ เมื่อมีกิจการต่าง ๆ ของรัฐ เช่นการประชุม การเลือกตั้ง ก็ใช้วัดเป็นสถานที่ราชการชั่วคราว และพระสงฆ์ยังเป็นสื่อในการสร้างความเข้าในเรื่องการปกครองแก่ประชาชน

๓. ด้านเศรษฐกิจ
พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย ได้ชี้แนะวิธีการการดำรงชีพอยู่อย่างถูกต้องและมีนำมาซึ่งความสุข แก่บุคคลและสังคมได้ พระพุทธศาสนาได้สอนเกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ ได้แก่การประกอบการงานอาชีพที่สุจริตและประกอบด้วยหลักธรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จในกิจกรรมดังกล่าว เช่น
๑) การรู้ประมาณในการบริโภค ใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย (โภชเน มัตตัญญุตา) มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของประชาชนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นปัจจุบัน
๒) หลักการทำงานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ หรือหัวใจเศรษฐี ได้แก่
๑. อุฏฐานสัมปทา ความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน
๒. อารักขสัมปทา การประหยัดอดออมทรัพย์ที่ได้มา โดยใช้จ่ายแต่จำเป็น
๓. กัลยาณมิตตตา การรู้จักคบคนดี ไม่คบคนชั่วคนพาลอันจะนำพาให้ ทรัพย์สินฉิบหายวอดวาย
๔. สมชีวิตา การรู้จักสภาพทางเศรษฐกิจ รู้ฐานะทางการเงินของตน ใช้จ่ายแต่พอดี

บทวิเคราะห์
๖.๑ คุณค่าด้านเนื้อหา
๑) คำนมัสการพระพุทธคุณ มีเนื้อหาสำคัญ คือ การสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยกวีได้กล่าวยกย่องพระพุทธเจ้าไว้ว่า ทรงพระคุณอันประเสริฐ ๓ ประการ ได้แก่
๑.๑)พระวิสุทธิคุณ คือ พระพุทธเจ้าทรงปราศจากกิเลสและไม่เกี่ยวข้องกับความมัวหมองหรือราศีใดๆ
๑.๒)พระมหากรุณาธิคุณ คือ พระพุทธเจ้าทรงมีพระกรุณามากมายเหมือนกับน้ำในมหาสมุทร ทรงช่วยเหลือมนุษย์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งกิเลส (โอฆกันดาร) อันได้แก่ กาโมฆะ (ความหลงใหลหมกมุ่นในกาม) ภโวฆะ (ความหลงใหลในสถานที่เป็นอยู่) ทิฏโฐฆะ (ความเห็นผิด) และ อวิชโชฆะ (ความหลงอยู่กับความไม่รู้) ด้วยการแนะแนวทางในการดับทุกข์ เพื่อมุ้งไปสู่ความสุขอันแท้จริง คือ พระนิพพาน
๑.๓)พระปัญญาคุณ คือ พระพุทธเจ้าทรงมีพระปรีชาญาณอันลึกซึ้ง ทรงคิดค้นและทำความเข้าใจในทุกสิ่งที่ได้ทรงพบเสมอ เนื่องจากทรงมีดวงตาหรือปัญญาทั้ง ๕ (เบญจพิธจักษุ)                                             ๒) คำนมัสการพระธรรมคุณ พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มีพระกรุณาแสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกิเลสและยกระดับจิตใจตนเองให้งดงาม ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขกวีจึงกล่าวสรรเสริญพระธรรมว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความดี (คุณากร) ที่ช่วยส่องทางสว่างให้แก่ชีวิตและจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย                                               ๓) คำนมัสการพระสังฆคุณ ถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบย่อมสูญสิ้นไปพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสงฆ์จึงมีบทบาทสำคัญและมีพระคุณโดยเฉพาะแก่พุทธศาสนิกชน เพราะหากไม่มีพระสงฆ์ คงจะไม่มีผู้สืบทอดหลักธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา  ๔) คำนมัสการมาตาปิตุคุณ มารดาเป็นผู้มีพระคุณแก่เรา เพราะเป็นผู้ให้ผู้กำเนิดและเลี้ยงดูเราโดยไม่หวังผลตอบแทน ตั้งแต่เราเกิดมา ท่านก็ให้ความรักความเมตตาเอาใจใส่ดูแลห่วงใยโดยบริสุทธิ์ใจ คอยแนะนำตักเตือนชี้ทางที่ดีให้แก่เรา เมื่อเราทุกข์หรือเจ็บไข้ท่านก็ทุกข์ด้วย แม้จะต้องทำงานด้วยความเหนื่อยยาก                    ๕) คำนมัสการอาจริยคุณ เนื่องด้วยครูอาจารย์เป็นผู้มีพระคุณแก่เรา เพราะเป็นผู้อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เรา ปรารถนาให้เรามีความรู้ ความคิด ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างแจ่มแจ้ง และสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต 
 ๖.๒ คุณค่าด้านกลวิธีการแต่ง
เนื่องด้วยความมุ่งหมายประการสำคัญของพระยาศรีสุนทรโวหารในการประพันธ์คำนมัสการคุณานุคุณ คือ การพรรณนาคุณงามความดีที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์มีต่อชนทุกชั้น ดังนั้น ถ้อยคำที่กวีนำมาใช้ตึงต้องแฝงความหมายที่ดีงามและสามารถท่องจำได้โดยง่าย เพื่อให้เยาวชนไทยได้ยึดถือเป็นแบบอย่างและซาบซึ้งไปกับเนื้อความซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องในทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีเนื้อหาที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่กวีก็สามารถพรรณนาถ้อยความและเลือกสรรถ้อยคำได้อย่างไพเราะจับใจและมีความดีเด่นในด้านกลวิธีการแต่ง ดังนี้

๑) การเลือกสรรคำเหมาะกับเนื้อเรื่อง กวีเลือกสรรถ้อยคำนำมาใช้ได้อย่างไพเราะเหมาสม โดยเฉพาะในบทนมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจริยคุณ ซึ่งเป็นการพรรณนาพระคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์ เป็นการใช้คำง่ายแต่มีความหมายลึกซึ้ง 

๒) การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ กวีใช้คำให้เกิดความงามและเสียงเสนาะในการอ่านออกเสียงโดยการสัมผัสอักษรและสัมผัสสระ เป็นการเพิ่มคุณค่าและความไพเราะให้บทกวี ดังนี้
          ๒.๑) สัมผัส เนื่องจากการแต่งคำนมัสการคุณานุคุณ มีข้อจำกัดในเรื่องฉันทลักษณ์ กวีจึงต้องคิดสรรคำที่มีความหมาย ได้ใจความ และถูกต้องตรงตามเนื้อหาและลักษณะบังคับของคำประพันธ์ที่นำมาใช้ ซึ่งได้แก่     กาพย์ฉบัง ๑๖ และโดยเฉพาะอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เพราะนอกจากจะมีกฎเกณฑ์ในเรื่องจำนวนคำและสัมผัสแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องเสียงหนัก-เบาของคำหรือครุ-ลหุอีกด้วย จึงจะสามารถสร้างสรรค์บทกวีให้มีความไพเราะและสละสลวยได้
          ๒.๒) การเล่นคำ การเล่นคำในคำนมัสการคุณานุคุณ โดยเฉพาะการเล่นคำซ้ำเป็นวิธีการอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เนื้อความที่มีการซ้ำคีความหมายที่เด่นชัด ไดรับการเน้นย้ำ และแสดงให้เห็นความสำคัญมากยิ่งขึ้น 
๓) ภาพพจน์ กวีใช้การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น การเปรียบพระคุณของบิดามารดาว่ายิ่งใหญ่กว่าภูเขาและแผ่นดิน